สายการผลิต

จากโรงงานในยุคแรกเริ่มด้วยการผลิตยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญทั่วไป บริษัทได้พัฒนาศักยภาพด้านการผลิตอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ครอบคลุมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ทั้งผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญ และยาสามัญใหม่ ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์ยาสำหรับสัตว์ เป็นต้น

บริษัทดำเนินธุรกิจโดยเน้นความปลอดภัยในทุกด้าน ให้ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ที่สำคัญคือการควบคุมคุณภาพให้มีมาตรฐานและความสม่ำเสมอ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตจะเน้นหัวข้อหลักๆ 3 เรื่องได้แก่ อาคารสถานที่ (Place), บุคลากร (Person), เครื่องมือ (Machine)

อาคารสถานที่

  • อาคารผลิตเป็นระบบปิดควบคุมการไหลเวียนของอากาศด้วยระบบ HVAC Clean Room Class 100000 ทำให้กระบวนผลิตมีความสะอาด
  • อาคารผลิตเป็นระบบปิดควบคุมการเข้าออก เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากภายนอก เช่น ความสกปรก สัตว์และแมลง
  • การกรองอากาศโดยระบบ HVAC system (Heating Ventilation Air Condition) ที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน ทำให้สามารถรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี ตลอดกระบวนการผลิต
  • ออกแบบวางผังการทำงานอย่างเป็นระเบียบและต่อเนื่องเพื่อประสิทธิภาพการผลิตและเพื่อหลีกเลี่ยงการปะปนและมีการป้องกันการปนเปื้อนข้าม (Cross contamination) โดยควบคุมความดันในห้องผลิตอย่างเหมาะสมตามมาตรฐานที่กำหนด

บุคลากร

  • มีการคัดสรรบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและมีประสบการณ์ในจำนวนที่เพียงพอ
  • บุคลากรได้รับการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจก่อนเข้าปฏิบัติงาน และมีการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง
  • ผู้ปฏิบัติงานต้องปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเหมาะสม เช่น การสวมใส่ชุดปฏิบัติงานใน Cleanroom เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากร่างกายสู่ผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
  • เข้าใจในหน้าที่ที่ได้กำหนดไว้ (Job descriptions) และตระหนักถึงหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต รวมทั้งคำนึงถึงคุณภาพตลอดเวลา

เครื่องมือ

เครื่องจักรการผลิตที่ทันสมัย เหมาะสมต่อกระบวนการผลิต และได้รับการตรวจรับรอง (Qualification) ประกอบไปด้วย

  • Design qualification คือ การพิสูจน์และจัดทำเอกสารเพื่อยืนยันว่าสิ่งอำนวยความสะดวกระบบและเครื่องมือมีความเหมาะสมตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
  • Installation qualification คือ การพิสูจน์และจัดทำเอกสารเพื่อยืนยันว่าสิ่งอำนวยความสะดวกระบบและเครื่องมือตามที่ได้มีการติดตั้งหรือปรับปรุงถูกต้องตรงกับการออกแบบที่ได้รับการรับรองและข้อแนะนำของผู้ผลิต
  • Operational qualification คือ การพิสูจน์และจัดทำเอกสารเพื่อยืนยันว่าสิ่งอำนวยความสะดวกระบบและเครื่องมือที่มีการติดตั้งหรือปรับปรุงสามารถทำงานได้ตามวัตถุประสงค์ตลอดช่วงการทำงานที่กำหนดไว้
  • Performance qualification คือ การพิสูจน์และจัดทำเอกสารเพื่อยืนยันว่าสิ่งอำนวยความสะดวกระบบและเครื่องมือที่เชื่อมต่อเข้าด้วยกันสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล และสามารถทำซ้ำได้ตามวิธีการของกระบวนการที่ผ่านการรับรองและข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์

ศูนย์วิจัย BLC

บริษัทมีนโยบายที่จะพัฒนาธุรกิจให้มีความมั่นคงบนฐานองค์ความรู้และนวัตกรรม จึงได้ก่อตั้ง ศูนย์วิจัย BLC (BLC Research Center) เพื่อเป็นฐานองค์ความรู้ในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีให้กับผลิตภัณฑ์ของบริษัท รวมทั้งเพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากหน่วยงานวิจัยต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) คณะเภสัชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นต้น เพื่อต่อยอดงานวิจัยเชิงพาณิชย์ โดยมุ่งเน้นการบูรณาการภูมิปัญญาไทย วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และสร้างการเจริญเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

ศูนย์วิจัย BLC (BLC Research Center)

ก่อตั้งบนพื้นที่ภายในบริเวณโรงงานผลิตของบริษัทเพื่อให้การดำเนินงานวิจัยครบถ้วนนั้นใน Research Center ประกอบไปด้วย 3 ฝ่าย ดังนี้

Research Administration Department

ดำเนินการบริหารงานในการคัดกรองวิทยาการความรู้เพื่อยกระดับงานวิจัยรวมทั้งติดต่อประสานงานกับนักวิจัย จากสถาบันต่างๆ เพื่อหาความร่วมมือในการร่วมกันพัฒนาและวิจัยด้านต่างๆ

Research I Department

วิจัยออกแบบและพัฒนาสูตรตำรับผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ประเภทยาสามัญ (Generic Drug) และยาสามัญใหม่ (New Generic Drug)

Research II Department

วิจัยพัฒนาด้านสมุนไพรเพื่อการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรอย่างถูกต้องได้มาตรฐาน รวมทั้งทำการค้นคว้าวิจัยด้านเครื่องสำอางและอาหารเสริม

ห้องปฎิบัติการ (laboratory)

ห้องปฏิบัติการเป็นอีกหนึ่งความสำคัญของ บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) ในการควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ และอยู่เบื้องหลังความสำเร็จตั้งแต่อดีตมาจนทุกวันนี้ ทางบริษัทได้ให้ความสำคัญต่อการออกแบบห้องปฏิบัติการแต่ละห้องให้สามารถปฏิบัติงานได้ สะดวก ปลอดภัย และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีการควบคุมสภาวะภายในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้เหมาะสมกับงานทดสอบในแต่ละสภาวะ เพื่อความเที่ยงตรงและเชื่อถือได้

ห้องปฏิบัติการ เป็นศูนย์ปฏิบัติการที่ประกอบด้วยเครื่องมือที่มีความทันสมัย เช่น เครื่อง High Performance Liquid Chromatography (HPLC), เครื่อง Fourier Transform Infrared Spectroscopy (FTIR), เครื่อง Inductively Couple Plasma/Optically Emission Spectroscopy (ICP/OES), เครื่อง High Performance Thin Layer chromatrography (HPTLC), เครื่อง UV Spectrophotometry เป็นต้น โดยเครื่องมือและอุปกรณ์ทั้งหมด ได้มีการควบคุมมาตรฐาน ได้รับการสอบเทียบและทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานตามระยะเวลาอย่างเหมาะสม ทั้งจากหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอก ส่งผลให้ได้ผลการวัดที่ถูกต้องแม่นยำ และมีความเที่ยงตรง นอกจากเครื่องมือวิเคราะห์แล้ว ห้องปฏิบัติการยังให้ความสำคัญกับผู้ปฏิบัติงาน โดยประกอบด้วยเภสัชกร นักวิทยาศาสตร์ ในสาขาต่างๆ ซึ่งผ่านการฝึกอบรมและทดสอบความชำนาญ จากสถาบันทั้งในและต่างประเทศ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูง

ส่วนของห้องปฏิบัติการ

บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) มีหน่วยงานที่ดำเนินงานภายใต้ระบบคุณภาพ ทั้งหมด 5 หน่วยงาน ซึ่งประกอบไปด้วย

1. ฝ่ายประกันคุณภาพ
ดำเนินงานเกี่ยวกับการประกันคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่ดี (Good Manufacturing Practice) ตั้งแต่เริ่มรับวัตถุดิบ จนถึงกระบวนการปล่อยผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาดเพื่อเป็นการประกันว่าผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ท้องตลาดจะมีคุณภาพและดำเนินงานเกี่ยวกับเครื่องมือวัดในเรื่องการทวนสอบและการสอบเทียบ การทำ Preventive Maintenance, Qualification เพื่อเป็นการประกันผลการทดสอบและคุณภาพของผลิตภัณฑ์อีกด้านหนึ่ง
2. ฝ่ายตรวจสอบความถูกต้อง
ดำเนินงานเกี่ยวกับ บริหารจัดการงานด้านตรวจรับรองและสอบความถูกต้อง รวมทั้งการศึกษาความคงสภาพของผลิตภัณฑ์ยาให้เป็นไปตามระบบที่กำหนดขึ้น
3. ฝ่ายควบคุมคุณภาพ 1
ดำเนินงานเกี่ยวกับงานทดสอบทางกายภาพ และเคมี ของวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ระหว่างกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐาน
4. ฝ่ายควบคุมคุณภาพ 2
ดำเนินงานเกี่ยวกับงานทดสอบทางจุลชีววิทยา เช่น การตรวจสอบการปนเปื้อนทางจุลชีวะ, การทดสอบความแรง (Potency) ของยาปฏิชีวนะ (Microbial Assay) เป็นต้น และการตรวจสอบ บรรจุภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ
5. ฝ่ายพัฒนาวิธีวิเคราะห์
ดำเนินงานเกี่ยวกับคัดสรรและการพัฒนาวิธีการทดสอบ สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ พร้อมทั้งตรวจสอบความใช้ได้ ของวิธีทดสอบ